ข่าวประชาสัมพันธ์

เพื่อป้องกันภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

เพื่อป้องกันภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด คือภาวะที่มดลูกมีการหดรัดตัวสม่ำเสมอ ส่งผลให้ปากมดลูกเปิดและคลอดหลังสัปดาห์ที่ 20 และก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์
ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดอาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของทารกเนื่องจากการพัฒนาของอวัยวะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทารกที่คลอดก่อนกําหนดจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด
สาเหตุของภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดนั้นยังไม่แน่ชัด โดยภาวะดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ได้ทุกคน
อาการ
  • การหดรัดตัวของมดลูกอย่างสม่ำเสมอหรือบ่อย ๆ
  • ปวดหลังล่างเป็นประจำ
  • รู้สึกปวดถ่วงบริเวณเชิงกรานหรือท้องน้อย
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด
  • ภาวะถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนด
  • ลักษณะของตกขาวที่เปลี่ยนไป
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร หากมีอาการดังกล่าวหรือเกิดความกังวลใจ ควรไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องอายหากอาการดังกล่าวกลายเป็นเพียงอาการเจ็บท้องหลอก
ปัจจัยเสี่ยง
  • อายุมารดาตอนตั้งครรภ์ เช่น อายุน้อยหรือมากเกินไป
  • ระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์ครั้งก่อนน้อยกว่า 6 เดือนหรือมากกว่า 59 เดือน
  • เคยมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดมาก่อน
  • ตั้งครรภ์ลูกแฝด
  • ภาวะปากมดลูกสั้น
  • ภาวะน้ำคร่ำมาก
  • มีปัญหาเรื่องมดลูกเช่นมีเนื้องอก หรือรกเกาะต่ำ มีเลือดออก
  • การติดเชื้อที่น้ำคร่ำหรืออวัยวะสืบพันธุ์
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือภาวะซึมเศร้า
  • ผ่านเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อร่างกายหรือจิตใจ เช่น การเสียชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รัก
  • การสูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติด
ภาวะแทรกซ้อน ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดอาจนำไปสู่การคลอดทารกคลอดก่อนกําหนด ซึ่งส่งผลให้ทารกมีปัญหาด้านสุขภาพเนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ ยังไม่พัฒนาเต็มที่ ทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ อาจมีปัญหาเรื่องระบบการหายใจ ปัญหาด้านสายตาและการมองเห็น ทารกที่เกิดก่อนกําหนดยังมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองพิการและปัญหาทางด้านการเรียนรู้และพฤติกรรม
การป้องกัน ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดไม่สามารถป้องกันได้ แต่การดูแลสุขภาพคุณแม่ตั้งครรภ์ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพครรภ์ให้แข็งแรง
  • พบสูตินรีแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ปรึกษาแพทย์หากมีอาการที่ทำให้กังวลใจ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดหรือสูบบุหรี่
  • หากมีโรคประจำตัว ควรแจ้งแพทย์และดูแลควบคุมอาการของโรค
  • หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ที่เว้นระยะห่างระหว่างตั้งครรภ์น้อยกว่า 6 เดือนหรือมากกว่า 59 เดือน
  • ดูแลควบคุมโรคประจำตัวหากมี